“ห้องนอน” หรือ “บ้านของเรา” เปรียบเสมือน Safe Zone ที่เราสามารถที่จะแสดงความเป็นตัวตนได้เต็มที่ นั่นรวมถึงการปล่อยให้นิสัยเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นจนสุดท้าย ห้องนอนก็กลายสภาพเป็นสภาพแวดล้อมที่ชวนให้เราเสียนิสัยไปซะแล้ว
ตื่นมาก็ต้องอยู่ในห้องนอน จะนอนก็ต้องเข้าห้องนอน เรียกได้ว่าห้องนอนคือสภาพแวดล้อมที่จะต้องเจอทุกวัน…
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินแล้วว่า สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนเราจากอีกคนนึง ให้กลายเป็นอีกคนนึง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ห้องนอนของเราจะสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพใจของเราออกมาได้
….ห้องนอนเปลี่ยนตัวเราก็เปลี่ยน
How to เปลี่ยนห้องนอนยังไงให้เปลี่ยนใจให้สตรอง
…ร่างกายที่สมบูรณ์มากจากจิตใจที่สมบูรณ์ จิตใจที่สมบูรณ์มาจากสมาธิที่สมบูรณ์…
“เคยเป็นมั้ย? บรรลุเป้าหมายมาตั้งหลายอย่างแต่กลับไม่มีความสุขเลย…ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่อยากได้มาตลอด ไม่ว่าจะสำเร็จเป้าหมายไปเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกเราได้เลย เหมือนตักน้ำรดผืนทราย… แทนที่จะมีความสุขกลับวิตกกังวลมากกว่าเดิมเพราะรู้สึกไม่เข้าใจความไม่พอของตัวเอง” – ก๊อต จิรายุ
นั่นเป็นเพราะเราลืมสังเกตตัวเองในทุกวัน ลืมถามว่าตัวเองจริง ๆ แล้วฉันต้องการอะไรกันแน่ เราลืมสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “สมาธิ” ที่คอยทำให้เราคอยตระหนักถึงตัวเองเสมอ
นั่งสมาธิ = การเข้าใจธรรมชาติ
ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่าการนั่งสมาธิเป็นเรื่องของศาสนาที่ชวนเสียเวลา…ซึ่งก็ไม่แปลกเท่าไหร่ เพราะสังคมไทยมีหลายคนที่ทำให้มันถูกเข้าใจผิดไปในทางนั้น และด้วยปัจจุบันที่โลกนั้นทุกอย่างมันเร็วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ข่าวสาร การทำงาน มันทำให้กลายเป็นว่าการนั่งนิ่งๆและสังเกตลมหายใจตัวเองเพียงแค่ 10 นาทีเป็นเรื่องเสียเวลา ทำให้ใครหลาย ๆ คนมองข้ามการนั่งสมาธิไป
….ทำไมการนั่งหลับตา และคอยคิดว่าตัวเองกำลังหายใจเข้า หายใจออกถึงทำให้มีสมาธิ…
เหมือนเวลาเราโกรธ เราเศร้า เรามีความสุข… เราไม่เคยรู้ตัว ว่ามันกำลังจะมา รู้ตัวอีกทีก็จากไปแบบน่าเสียดาย หรือจากไปโดยทำร้ายคนรอบข้างแบบไม่รู้ตัว …เพราะเราไม่รู้ตัวยังไงล่ะ นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมนั่งสมาธิเราถึงต้องมานั่งสังเกตตัวเองหายใจ ให้รู้ตัวตลอดเวลาว่าฉันทำอะไรอยู่ ฉันกำลังรู้สึกยังไงกันแน่ การที่เรายิ่งรู้จักว่าตัวเราเป็นยังไงคิดอะไรอยู่กันแน่ รู้สึกอะไรอยู่ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการหายใจ มันจะช่วยฝึกให้ความฟุ้งซ่านของเราลดลง เหลือเพียงความรู้สึกที่แท้จริงเท่านั้น
ดังนั้นการนั่งสมาธิไม่ใช่เรื่องของศาสนา… แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติของตนเองจากการสังเกตอย่างมีสติและรู้ทัน
ถ้าเรารู้จักตัวเองอย่างแท้จริง… เราก็จะสามารถจัดการตัวเองได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้นคนที่มีความสุขจึงเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรแล้วลงมือทำ ไม่ใช่คนที่สามารถบรรลุเป้าหมายได้มากมายอะไรทั้งนั้น
เทคนิคของการทำสมาธิ ง่ายๆ ฉบับ พี่ก๊อต
เทคนิคของการทำสมาธินั้นเรียบง่ายมาก นั่นก็คือ การทำใจให้สงบ กับทิ้งอคติลง
จิตใจที่ฟุ้งซ่านมันก็เหมือนหมอก มันจะทำให้เราหลงทางและไขว้เขว บิดเบือนสิ่งที่ใจเราต้องการจริง ๆ จนทำให้เราวิตกกังวล ดังนั้นเราต้องคอยทำให้มันสงบลง
อคติก็เหมือนกัน… ถ้าเราไม่ทิ้งมัน โอบกอดความเชื่อเพียงด้านเดียวที่ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ไม่พร้อมเปิดรับ เราก็ไม่อาจทำสมาธิได้ เพราะสมาธิเป็นการเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาตินั้นมีความจริงของมัน เราไม่สามารถใช้อคตินั้นตัดสินได้ ดังนั้น ถ้าต้องการเข้าใจมันต้องก้าวออกมาจากอคติ และเปิดใจยอมรับในสิ่งที่มันเป็น
และสำหรับคนที่คิดว่าไม่สามารถนั่งสมาธิได้นาน ๆ การนั่งสมาธิเป็นกลุ่มอาจจะช่วยให้สามารถมีสมาธิได้มากขึ้น การที่มีคนตั้งใจนั่งสมาธิมานั่งข้าง ๆ อาจจะช่วยให้เราอยากตั้งใจตาม หรือลองสร้างบรรยากาศสงบ ๆ ช่วยดูก็ได้ แต่ที่สำคัญการจะนั่งสมาธิได้นานหรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับการฝึกอยู่ดี เพราะช่วงแรก ๆ อาจจะไม่รู้สึกอะไรหรอก บางทีอาจง่วงด้วยซ้ำไป แต่ถ้านั่งไปเรื่อย ๆ จนร่างกายปรับตัว เราก็จะมีสมาธิไปกับตัวเองเอง เช่น ง่วงอยู่นะ กำลังจะหลับแล้วนะ ตอนนี้สงบนะ จนสุดท้ายเราก็จะสามารถนั่งสมาธิได้อย่างมีประสิทธิภาพเอง
การฝึกจิตใจให้สตรองไม่ได้มีแค่นั่งสมาธิเท่านั้น
จิตใจที่สตรอง ต้องมี “วินัย” รู้ว่าฉันต้องทำอะไร ตอนไหน อย่างไร ซึ่งเราสามารถฝึกฝนจิตใจให้มีวินัยได้แม้แต่กับเรื่องง่าย ๆ เช่น จัดการ “ห้องนอน”
คิดเอาละกัน ถ้าตื่นมาให้ห้องนอนที่ขยะเป็นกองภูเขา ของกองจนเหลือทางเดินเหลือคืบเดียว คงให้ความรู้หดหู่ไม่ใช่น้อย…ถึงแม้การจัดห้องนอนจะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ มองว่าจะจัดการยังไงก็ได้ แต่การคอยดูแลมันให้ดี และเรียบร้อย คอยทำความสะอาดสม่ำเสมอ ไม่ใช่ผัดวันประกันพรุ่ง …ถ้าแค่ห้องนอนเรายังขี้เกียจทำความสะอาด แค่อยากทำให้มันสะอาดขึ้นเพื่อให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นเรายังทำไม่ได้เลย แล้วงานที่ใหญ่กว่านี้เราจะจัดการได้ยังไง?
ถ้าจัดการเรื่องเล็ก ๆ ไม่ได้ เรื่องใหญ่ ๆ ก็จัดการไม่ได้เช่นกัน
อย่าลืมที่จะฝึกฝนและรู้ทันตัวเองเสมอ เพราะไม่มีใครช่วยให้จิตใจเราเข้มแข็งได้ดีเท่าตัวเราเอง
ทำไมเราไม่เกลาตัวเองก่อนเกลาคนอื่น?